วันพุธที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

รู้จักดอกเบี้ย BIBOR

เมื่อพูดถึงคำว่าอัตราดอกเบี้ย คนทั่วไปมักจะนึกถึงอัตราดอกเบี้ยที่ใกล้ตัวที่สุด คือ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งทั้งคู่เป็นอัตราดอกเบี้ยระหว่างลูกค้ากับธนาคาร หรือที่เรียกกันว่า retail rates (อัตราดอกเบี้ยสำหรับรายย่อย) แต่จริง ๆ แล้ว “อัตราดอกเบี้ย” ไม่ได้มีเพียงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก หรือ เงินกู้ เท่านั้น ในธุรกรรมประจำวันของธนาคาร จะต้องมีการกู้ยืมในระดับ wholesale ซึ่งเป็นการกู้ยืมกันครั้งละมาก ๆ และเกิดขึ้นทุก ๆ วัน ในตลาดการเงิน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ใช้ในการกู้ยืมกันในปริมาณมาก ๆ หรือที่เรียกว่าเป็น wholesale rates จะมีอยู่หลายตัว ขึ้นอยู่กับว่าเป็นตลาดใดที่เราพูดถึง หนึ่งในอัตราดอกเบี้ยระดับ wholesale ที่กำลังมาแรงและมีบทบาทเพิ่มขึ้นคืออัตราดอกเบี้ย BIBOR
อัตราดอกเบี้ย BIBOR มีชื่อย่อมาจาก Bangkok Interbank Offered Rate หรืออัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นตลาดกรุงเทพ ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์แจ้งว่าจะยอมปล่อยกู้ให้แก่กัน โดยมี ธปท. เป็นผู้รวบรวมและประกาศอัตราดอกเบี้ย BIBOR เฉลี่ยเพื่อใช้ในการอ้างอิงได้ทุกวัน (รายละเอียดการกำหนดอัตราดอกเบี้ย BIBOR สามารถดูได้ที่ www.bot.or.th ในส่วนของตลาดการเงิน)แล้วใครบ้างที่ควรรู้และเข้าใจอัตราดอกเบี้ย BIBOR? อันดับแรกน่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ที่จะได้ประโยชน์จากการใช้อัตราดอกเบี้ย BIBOR แทนอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงอื่น ๆ ที่ใช้อยู่ที่มักเคลื่อนไหวผันผวนรุนแรงตามสถานการณ์การเงินในตลาดโลก ขณะที่ อัตราดอกเบี้ย BIBOR นอกจากจะสะท้อนสภาพตลาดเงินของไทยโดยตรงได้ดีกว่า ยังมีความผันผวนน้อยกว่ามาก ทำให้ปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์ให้ความสนใจใช้อัตราดอกเบี้ย BIBOR มากขึ้นเป็นลำดับ นอกจากนี้ ทางการ เช่น ธปท. ก็กำกับดูแลอัตราดอกเบี้ย BIBOR ให้มีการพัฒนาขึ้นเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในตลาดไทยอย่างจริงจังรวมถึง ธปท. และรัฐบาลเองก็มีการออกประมูลตราสารที่อิงกับอัตราดอกเบี้ย BIBOR อย่างต่อเนื่องและได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ประชาชนเองก็ควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย BIBOR เช่นกัน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วนั้น ประชาชนจะคุ้นเคยกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ Prime rate (เช่น MLR) และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ แต่อาจไม่ทราบว่าการมีอัตราดอกเบี้ย BIBOR ที่ใช้กันแพร่หลาย ส่วนหนึ่งจะช่วยสะท้อนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย รวมถึงทิศทางของ Prime rate ได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยในการประเมินและวางแผนต้นทุนการกู้ยืมเงินของประชาชน นอกจากนี้ ประชาชนอาจพิจารณาทางเลือกการออมที่มีการอิงกับอัตราดอกเบี้ย BIBOR เช่น พันธบัตรออมทรัพย์ ธปท. อ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ย BIBOR ระยะ 3 เดือน ซึ่งจะให้ผลตอบแทนดีกว่าการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์อยู่พอสมควร (ตามแผนภาพ) เนื่องจากมีอัตราผลตอบแทนใกล้เคียงกับในตลาด wholesale มากขึ้น อีกทั้งยังได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ลอยตัว (หรือไม่คงที่) จากการจ่ายดอกเบี้ยทุกๆ 3 เดือน ซึ่งดอกเบี้ยที่จ่ายจะเปลี่ยนแปลงไปตามอัตราดอกเบี้ย BIBOR ระยะ 3 เดือน ณ ขณะนั้น ซึ่งหากผู้ออมเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยโดยรวมน่าจะโน้มสูงขึ้น การเลือกรับอัตราดอกเบี้ยที่มีการปรับเป็นระยะ ๆ ก็น่าจะช่วยลดค่าเสียโอกาสจากการรับอัตราดอกเบี้ยคงที่ได้ แต่แน่นอนว่า หากผู้ลงทุนคิดว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยน่าจะอยู่ในขาลงมากกว่า ก็อาจเลือกลงทุนในอัตราดอกเบี้ยคงที่
ปัจจุบัน สถาบันการเงินต่างๆ เริ่มมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่อิงกับอัตราดอกเบี้ย BIBOR ออกมามากขึ้น เช่น ตั๋วแลกเงินอิงกับ BIBOR หรือ เงินกู้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวอิงกับ BIBOR ในขณะที่ภาครัฐก็มีการออกประมูลตราสารที่อิงกับอัตราดอกเบี้ย BIBOR ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ถึงแม้ว่าผลิตภัณฑ์ดังที่กล่าวมา ณ ปัจจุบันยังมีเป้าหมายเป็นลูกค้ารายใหญ่(wholesale) แต่หากได้รับความนิยมมากขึ้น ในระยะต่อไปอาจขยายความครอบคลุมไปยังลูกค้ารายย่อย (retail) ดังนั้น การออกพันธบัตรออมทรัพย์ของธปท. ที่อ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ย BIBOR จึงไม่ได้เป็นสิ่งใหม่ในแง่ผลิตภัณฑ์ แต่ใหม่ในแง่กลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ลงทุนรายย่อย (ที่มีวงเงินซื้อขั้นต่ำ 50,000 บาทต่อราย)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น